นอกจากจะติดต่อโดยการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ แล้ว ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังแพร่กระจายและลอยปนอยู่ในอากาศ โดยมากับละอองสารคัดหลั่งจากการไอหรือจามได้อีกด้วย ซึ่งเราสามารถป้องกันได้โดยการใส่หน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม หน้ากากที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หน้ากาก N95 ไปจนถึงหน้าก ากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากผ้า โดยเฉพาะอย่างหลังนี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า หน้ากากผ้าป้องกันโควิดได้จริงไหม หลายๆ คนกำลังหาคำตอบ เรามีข้อมูลมาแถลงไขให้กระจ่างกัน
ทำไมต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไวรัส
หน้าที่ของหน้ากากอนามัย คือ ปกป้องผู้สวมใส่ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับละอองฝอยของน้ำมูกหรือน้ำลาย รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้คนที่เจ็บป่วยแพร่เชื้อไปให้คนอื่นๆ สถานการณ์ที่แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย ได้แก่
เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (แม้จะอาการไม่มากก็ตาม)
เมื่อต้องดูแลหรืออยู่ใกล้ชิดคนป่วย รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย
เมื่อต้องไปในสถานที่เสี่ยงหรือมีคนพลุกพล่าน หรือมีคนจำนวนมากอยู่รวมกันอย่างแออัดในพื้นที่จำกัด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการสัมผัสละอองฝอยจากการไอหรือจาม
ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ควรใส่หน้ากากทุกครั้งที่ต้องพบหรือพูดคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อต้องกักตัวเพื่อดูอาการว่าติดโควิด-19 หรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากใส่หน้ากากอนามัยไม่ถูกวิธี อาจมีความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นและไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้เท่าที่ควร
หน้ากากประเภทไหนป้องกันไวรัสได้ดีที่สุด
ก่อนจะไปหาคำตอบกันว่าหน้ากากผ้าป้องกันโควิดได้หรือไม่ อย่างไร เรามาทำความรู้จักกับหน้ากากหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์กันก่อน โดยจะเรียงลำดับตามขีดความสามารถในการป้องกันเชื้อไวรัส
หน้ากาก N95
สามารถป้องกันเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนมากับละอองน้ำลาย ไอ หรือจามของผู้ป่วยได้ดี ทั้งยังป้องกันเชื้อโรคบางชนิดและละอองฝุ่นที่อนุภาคเล็กอย่าง PM 2.5 ได้มากถึง 95% แต่ราคาค่อนข้างสูง จึงเหมาะกับคนที่ต้องทำงานหรืออยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองในระดับที่เป็นอันตราย คนทั่วไปไม ่จำเป็นต้องใช้และไม่แนะนำให้ใส่ขณะออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้หายใจไม่สะดวก
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
ความสามารถในการป้องกันเชื้อไวรัสของหน้ากากประเภทนี้อยู่ในระดับปานกลาง หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานจะประกอบด้วยวัสดุกันความชื้นด้านนอก (สีเขียว) ซึ่งมีสารเคลือบเพื่อกันน้ำ เมื่อมีละอองจากสารคัดหลั่งลอยมาจะถูกกักอยู่ด้านนอก ไม่ซึมเข้าไปด้านใน ไวรัสจึงไม่สามารถผ่านหน้ากากเข้ามาสัมผัสตัวเราได้ด้วย ส่วนด้านใน (สีขาว) จะมีชั้นกรองต่างๆ และวัสดุดูดซึมละอองของเหลวจากตัวเรา ในกรณีที่เราป่วย เชื้อโรคจะถูกกักไว้ ไม่กระจายออกไปด้านนอกที่มีสารกันน้ำอยู่
หน้ากากอนามัยประเภทนี้มีราคาไม่แพง จึงเหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่มีอาการไอ จาม บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ต้องดูแลหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม ควรเตือนตัวเองไว้เสมอว่า แค่สวมหน้ากากอนามัยไม่ได้ช่วยป้องกันไวรัสได้ 100% ควรหลีกเลี่ยงการเอามือไปสัมผัสหน้ากากและควรเปลี่ยนใหม่ทุกวัน และไม่แนะนำให้นำหน้ากากประเภทนี้มาใช้ซ้ำ แม้จะผ่านการซักแล้วก็ตาม เพราะหลังซักคุณสมบัติของวัสดุจะเปลี่ยนไป
แล้วหน้ากากผ้าป้องกันโควิดได้จริงไหม
หน้ากากผ้ามีขีดความสามารถในการป้องกันไวรัสได้ค่อนข้างต่ำ จึงเหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วยไม่เป็นโรคทางเดินหายใจ และไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย
เนื่องจากวัสดุเป็นผ้า จึงไม่สามารถป้องกันความชื้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง หน้ากากจะเกิดความชื้น เสี่ยงต่อการที่เชื้อโรคจะติดค้างอยู่บนหน้ากากนานกว่าหน้ากากประเภทอื่น ละอองฝอยที่มีเชื้อโรคอาจซึมเข้าสู่จมูกและปากของเราได้
คุณสมบัติของหน้ากากผ้าที่สามารถป้องกันไวรัสได้
ในกรณีที่ไม่มีหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใช้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ป่วย โดยต้องมีคุณสมบัติสำคัญ ดังนี้
ถ้าจะให้ป้องกันไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านนอกต้องสามารถกันของเหลวและด้านในสามารถดูดซึมของเหลวได้ ดังนั้น หน้ากากผ้าควรต้องมีอย่างน้อย 2 ชั้น
ป้องกันอนุภาคขนาดเล็กได้ และป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้
มีรูปทรงเข้ากับสรีระของรูปหน้าได้อย่างพอดี ใส่สบาย และหายใจได้สะดวก
สามารถนำไปซักทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง โดยที่คุณสมบัติของผ้าไม่เปลี่ยน
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรเป็นหน้ากากสี่เหลี่ยมแบบมีจีบ อาจเป็นจีบแบบระบายหรือจีบแบบสี่เหลี่ยมก็ได้ เพื่อช่วยให้หายใจสะดวก และตัวจีบต้องคว่ำลง เพื่อไม่ให้กลายเป็นร่องรองรับของละอองของเหลว ส่วนหน้ากากสามเหลี่ยม ควรเป็นแบบที่ไม่มีตะเข็บตรงกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคมีช่องทางเล็ดลอดเข้าสู่จมูกและปากของเรา
ผ้าชนิดที่เหมาะจะนำมาทำหน้ากากผ้า
มีผ้าบางชนิดที่สามารถนำมาทำเป็นหน้ากากผ้าป้องกันไวรัสได้ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทดสอบประสิทธิภาพของผ้าชนิดต่างๆ เพื่อหาว่าผ้าชนิดใดเหมาะที่สุดที่จะนำมาใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้ พบว่าผ้าฝ้ายมัสลินมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ทำหน้ากากผ้าป้องกันโควิด-19 มากกว่าผ้าชนิดอื่น
ผ้าฝ้ายมัสลินมีคุณสมบัติโดดเด่นหลายอย่าง เช่น เป็นผ้าเนื้อละเอียดที่มีประสิทธิภาพในการกันละอองน้ำได้ดี กันอนุภาคเล็กๆ ได้ ระบายอากาศดี แห้งเร็ว น้ำหนักเบา ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนังและเป็นเส้นใยฝ้ายธรรมชาติ 100% ทั้งยังให้สัมผัสที่นุ่มสบาย มีความลื่นพอประมาณ และมีความแข็งแรงทนทานต่อการซักท ำความสะอาด โดยสามารถนำไปซักทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้งานซ้ำได้มากถึง 100 ครั้ง
สำหรับผ้าฝ้ายดิบ ผลการทดสอบพบว่า เมื่อนำผ้ามาประกอบกัน 2 ชั้น เส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคขนาดเล็กได้ใกล้เคียงหน้ากับกากอนามัยทางการแพทย์ และสามารถซักได้มากกว่า 100 ครั้งโดยที่คุณภาพของเนื้อผ้าไม่เสื่อม ส่วนผ้านาโนก็เช่นเดียวกัน เมื่อนำผ้ามาประกบกัน 2 ชั้น สามารถกรองอนุภาคเล็กขนาดเล็กได้ใกล้เคียงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่สามรถซักได้ประมาณ 10 ครั้ง
ในส่วนของผ้ายืด จากการทดสอบประสิทธิภาพการต้านการซึมผ่านของละอองน้ำ พบว่าหน้ากากผ้ายืดสามารถต้านการซึมผ่านของละอองน้ำได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถกักอนุภาคขนาดเล็ก ส่วนผ้าสาลู (ผ้าชนิดเดียวกับที่ใช้ทำผ้าอ้อม) สามารถต้านการซึมผ่านได้ดีเทียบเท่าผ้าฝ้ายมัสลิน แต่ไม่สามารถกักอนุภาคขนาดเล็กได้
ผ้าชนิดชนิดที่ไม่เหมาะจะนำมาทำหน้ากากผ้า
ผ้าที่ต้องหลีกเลี่ยงมากที่สุด คือ ผ้าสปันบอนด์ แม้จะถูกเรียกว่าผ้า แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ผ้า เป็นใยสังเคราะห์ที่ไม่ผ่านการถักทอ มีความคงทนน้อย เสื่อมสลายได้ง่าย มีให้เลือกหลายเกรด จึงไม่เหมาะจะนำมาเป็นส่วนประกอบของหน้ากากผ้าที่ต้องมีการซัก เพราะยากต่อการตรวจสอบและรักษาคุณภาพ โดยเฉพาะถ้าเป็นเกรดที่คุณภาพต่ำ นอกจากจะป้องกันเชื้อโรคไม่ได้แล้ว อาจเปื่อยยุ่ยเป็นขุยและเกิดละอองฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและปอดได้
หน้ากากผ้าฉบับ DIY ทำใช้เองง่ายๆ ได้ดังใจ
ถ้าหน้ากากอนามัยที่ซื้อไว้ใกล้จะหมดและไม่อยากควักกระเป๋าซื้อบ่อยๆ เราสามารถทำไว้ใช้เองได้ นอกจากจะได้ลวดลายที่ ตรงใจไม่ซ้ำใครแล้ว ยังช่วยประหยัดได้อีกด้วย กรมอนามัย โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้เผยแพร่วิธีทําหน้ากากผ้าเย็บมือแบบง่ายๆ ดังนี้
วัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้
ผ้า/เศษผ้ากว้าง 6 นิ้วครึ่ง ยาว 7 นิ้ว จำนวนสองชิ้น ชิ้นนอก ถ้าเป็นผ้าฝ้ายมัสลินจะดีมาก ส่วนชิ้นใน ควรเลือกผ้าที่ไม่เป็นขุยและไม่สากจนเกินไป อย่างเช่น ผ้าฝ้าย ผ้าสาลู
กรรไกร เข็มหมุด เข็มเย็บผ้า และด้าย
ยางยืดตัดมา 2 เส้นความยาวพอประมาณ
ระยะเวลา
ไม่เกิน 15-30 นาที แต่สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งหัดทำอาจใช้เวลามากกว่านี้ เมื่อชำนาญแล้ว จะใช้เวลาน้อยลงเรื่อยๆ
ขั้นตอนการทำ
นำผ้าทั้งสองชิ้นมาพับครึ่งตามแนวยาว
จับจีบขนาด 1 นิ้ว ตามแนวยาวตรงก ลางผ้า เอาเข็มหมุดกลัดไว้ให้อยู่ทรง ทำทั้งสองชิ้น
จากนั้นนำผ้าที่ได้หันด้านนอกขึ้น
นำผ้าชิ้นแรกมาวาง แล้วนำยางยืดมาเย็บติดขอบผ้าทั้งซ้ายขวา ทำเป็นห่วงคล้อง
นำผ้าชิ้นที่สองมาวางทับบนชิ้นแรก โดยหันด้านนอกชนกัน
เย็บรอบผ้าสี่เหลี่ยม กะระยะให้ห่างจากของประมาณ 0.5 ซม.
ระหว่างเย็บให้รอบผืน อย่าลืมเว้นช่องว่างไว้ 1 นิ้วสำหรับกลับตะเข็บ
เมื่อเย็บเสร็จ ให้ใช้กรรไกรตัดขอบผ้าที่รุ่ยๆ ออก แล้วกลับตะเข็บผ้า
จากนั้นเย็บเก็บงานตรงช่องที่เว้นไว้ 1 นิ้ว เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ใช้หน้ากากผ้าอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ฉุกละหุกหรือขาดแคลนหน้ากากอนามัยแบบมาตรฐาน การใส่หน้ากากผ้าถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไม่มีอะไรป้องกันละอองฝอยเลย แต่ควรใช้หน้ากากผ้าอย่างระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยง ดังนี้
เปลี่ยนหน้ากากบ่อยๆ อย่าปล่อยให้ชื้น (ควรมีหลายอันสำรองไว้เปลี่ยน)
ทำความสะอาดมือบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสหน้ากากหรือใบหน้า
ขณะถอดหน้ากากผ้าเพื่อนำไปซักทำความสะอาด ต้องระวังการติดเชื้อจากการสัมผัสพื้นผิวด้านนอกของหน้ากาก
หากมีใครไอหรือจามใส่ ให้รีบถอดหน้ากากผ้านั้นออกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันละอองฝอยซึมเข้าเนื้อผ้า แล้วเข้าจมูกหรือปากของเราได้ในที่สุด
ควรซักทำความสะอาดทันทีหลังจากถอดหน้ากาก
การฆ่าเชื้อและวิธีซักหน้ากากผ้า
เราสามารถนำหน้ากากผ้ามาใช้ซ้ำได้ แต่หัวใจหลัก คือ ต้องแน่ใจว่าสะอาดปราศจากเชื้อโรคสะสม ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและฆ่าเชื้อไวรัสบนหน้ากากผ้า แนะนำให้ใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ฉีดลงบนหน้ากากผ้า โดยฉีดซ้ำทุกๆ 3-4 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่มีการใช้หยิบจับหน้ากากแล้วรอสัก 3-5 นาทีก่อนสวมใส่
ทั้งนี้ การฉีดแอลกอฮอล์ 70% ลงบนหน้ากากผ้า อาจจะมีข้อจำกัดในการใช้งานบางประการ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการแพ้บนผิวหน้า ซึ่งเป็นบริเวณผิวที่บอบบาง จึงควรใช้อย่างระมัดระวังที่สุดและทดสอบกับผิวก่อนใช้
ส่วนการซักด้วยน้ำ แนะนำให้ใช้น้ำยาซักผ้าเด็กหรือน้ำสบู่อ่อน หรือซักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แต่ไม่ควรแช่ทิ้งไว้ และหลีกเลี่ยงการใช้น้ ำยาขจัดคราบหรือน้ำยาฟอกผ้าขาว
ขยี้ให้ทั่วทั้งผืน
ล้างน้ำซ้ำ 2 ครั้งจนหมดฟอง และบิดน้ำให้หมาด
ตากในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท มีลมโกรก และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแสงแดดจัด
ถ้าต้องการรีดหน้ากากผ้าหลังซัก แนะนำให้รีดเพียงด้านนอกด้านเดียว ไม่ต้องรีดด้านใน หรือใช้ผ้ารองรีดเพื่อป้องกันความร้อนโดยตรงจากเตารีดทำลายเนื้อผ้าและทำให้ยางยืดเสียหาย
ของมันจำเป็น
ในสถานการณ์ที่หน้ากากอนามัยกลายเป็นของใช้จำเป็นในยุค New Normal หน้ากากผ้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ หากเราเลือกใช้ชนิดผ้าที่เหมาะสม ใช้อย่างถูกวิธี และดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ ถึงแม้จะป้องกันไม่ได้เต็ม 100% แต่ก็ยังดีกว่าที่เราไม่มีอะไรป้องกันเลย
เพราะฉะนั้น ก่อนออกเที่ยวนอกบ้านหรือไปทำธุระที่ไหน อย่าลืมสวมหน้ากากและพกพาหน้ากากสำรองไปใช้ทุกครั้ง