Unilever logo
Cleanipedia logo

เทรนด์ฮิตกิจกรรมช่วงปิดเทอมของครอบครัว

เกมสนุกสนานที่เล่นได้ทั้งบ้าน ไม่มีเบื่อ

อัปเดตเมื่อ

เวลาอ่าน: นาที

กิจกรรมช่วงปิดเทอม ชวนลูกเล่นเน้นเสริมทักษะ

หลักขำๆ ของการเป็นคุณพ่อคุณแม่มีอยู่ว่า “ห้ามลา ห้ามพัก ห้ามลาออก” การเลี้ยงลูกในยามปกติก็ท้าทายระดับหนึ่งอยู่แล้ว ความท้าทายจะเพิ่มระดับขึ้นในช่วงปิดเทอม เราจึงนำ 7 กิจกรรมครอบครัวดีๆ มานำเสนอเพื่อมาทำร่วมกันตอนปิดภาคเรียน

คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลหากต้องเล่านิทานที่มีโจรผู้ร้าย หรือเรื่องที่มีความตายให้ลูกฟัง นิทานเปรียบเสมือนไทม์แมชชีน ที่จะนำพาเด็กเข้าไปลิ้มรสโลกอนาคต และรู้จักกับความชั่วร้าย ความเป็นความตายได้อย่างละมุนละม่อมที่สุด

ควรเลือกกิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กอย่างไร

ขอให้เลือกตามความสนใจของเด็กหรือสร้างแรงจูงใจให้เขา สิ่งสำคัญคือให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกกิจกรรมช่วงปิดเทอม ให้เด็กออกความคิดเห็น แล้วเขาก็จะรักและสนใจในเรื่องนั้นๆ หลังจากเปิดเทอมของลูก อาจจะช่วยทำให้ลูกมีเรื่องราวไปคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ และลดอาการลูกไม่อยากไปโรงเรียนในช่วงเปิดเทอมใหม่ได้อีกด้วย

พึงระลึกเสมอว่า เด็กวัยเรียนต้องการกิจกรรมที่ฝึกความนิ่งภายใน และส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกายภายนอก ได้แก่

  • กิจกรรมเคลื่อนไหวที่ได้ออกแรง ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาก็ได้ ตามที่เด็กชอบ 

  • กิจกรรมเพิ่มความนิ่งหรือสมาธิ เช่น ดนตรี ศิลปะ วาดรูป เขียนไดอารี่

  • ฝึกทักษะชีวิต เช่น งานบ้าน ทำอาหาร

  • กิจกรรมเสริมทักษะความคิดและฝึกแก้ปัญหา เช่น ควรทำอย่างไรหากตกอยู่ในอันตราย เรียนรู้คำว่าแพ้ รู้จักให้อภัย

เกมซูเปอร์ฮีโร่  

เด็กเล็กมักชอบเล่นบทบาทสมมติอยู่แล้วตามพัฒนาการ ลองให้เด็กแต่งตัวเล่นเป็นซูเปอร์ฮีโร่ หรือช่วยกันประดิษฐ์ของใช้ในบ้านมาแต่งตัวก็ได้ แล้วให้ซูเปอร์ฮีโร่ช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า  หรือสมมติคุณเป็นผู้ร้าย แล้วให้เด็กเป็นตำรวจ  

การแสดงบทบาทสมมติเป็นกิจกรรมเสริมพัฒนาการที่จะช่วยให้เด็กเข้าใจบทบาททางสังคมมากขึ้น และสอนให้เด็กรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นอกจากนี้ คุณอาจค้นพบว่า ลูกมีพรสวรรค์ด้านใดด้านหนึ่ง หรือคุณอาจได้เป็นคุณพ่อคุณแม่ซูเปอร์สตาร์เมืองไทยก็ได้ ใครจะรู้ล่ะ

เกมนักหาสมบัติ ไขปริศนาลับ

เกมตามล่าหาสมบัติ เป็นเกมที่เสริมสร้างทักษะให้เด็กหลายอย่าง สอนให้เด็กได้รู้ถึงกฎเกณฑ์และข้อจำกัด และให้พวกเขาเห็นว่าการเคารพในกฎกติกาเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ สอนให้รู้จักการระดมสมองร่วมมือกันแก้ปัญหา

หากบ้านคุณมีสวนหรือพื้นที่ด้านนอก ก็อาจเนรมิตให้เป็นป่าในจินตนาการของเด็ก หรือจะดัดแปรงห้องในบ้านก็ได้ 

ให้คุณลองหาที่ซ่อนของเล่นตามจุดต่างๆ แล้วทำลายแทงสมบัติให้เด็กออกตามหา อาจเขียนปริศนาอะไรเอ๋ยให้เด็กทายเพื่อหาที่ซ่อน หรือมีคำสั่งที่เด็กจะต้องทำ เช่น ร้องเพลงและเต้นท่าโปรดให้คุณดูก่อน แล้วคุณจะบอกรหัสต่อไป รับรองว่าจะเป็นกิจกรรมครอบครัวที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับทุกคน

นักสืบจูเนียร์ 

การเล่นเป็นนักสืบเป็นกิจกรรมเสริมพัฒนาการที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รู้จักตั้งคำถาม และหาคำตอบ พร้อมกับฝึกความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา 

คุณพ่อคุณแม่อาจพาลูกๆ ไปตามสถานที่ที่เด็กสามารถสังเกตดูคนทำงานในแบบต่างๆ หรือ อาจมองมาจากที่นั่งไกลๆ หรือแม้แต่มองจากในรถ เพื่อให้เด็กได้เห็นวิถีชีวิตของคนทำงาน

ลองหยิบยกแต่ละอาชีพขึ้นมาพูดคุยกับเด็ก ด้วยการตั้งคำถาม 5W1H (ใคร ทำอะไร ที่ใด เมื่อไร อย่างไร ทำไม) เช่น คุณพนักงานคนนั้นกำลังทำอะไรกัน แต่งตัวอย่างไร แต่งตัวแบบนั้นเพื่ออะไร ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อะไรบ้าง คนใดเป็นหัวหน้า สังเกตได้อย่างไรว่าเป็นหัวหน้างาน เขามีความสุขกับงานหรือไม่ เขาดูเป็นคนทำงานที่ดีหรือไม่ สังเกตอย่างไรว่าเขาไม่มีความสุขในการทำงาน และอาจมีการพูดคุยกับคนทำงานนั้นๆ (หากรู้จักกัน)

การันตีได้ว่า เกมนักสืบน้อยๆ จะเป็นกิจกรรมช่วงปิดเทอมที่สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมได้หมด คนหนึ่งรับหน้าที่จดข้อมูล อีกคนค้นหาข้อมูล สอนเด็กให้รู้จักสัมภาษณ์และจดบันทึกเรื่องราว

เกษตรกรตัวน้อย  

นี่คือหนึ่งในกิจกรรมครอบครัวที่มีกระแสแรงมากตามเทรนด์รักษาสุขภาพนั่นเอง 

การสอนเด็กให้รู้จักปลูกผักสวนครัว ปลูกดอกไม้ ต้นไม้ที่เขาชอบ เป็นการพักผ่อนสมองและออกกำลังกาย สอนนับและบวกเลข แล้วยังเป็นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น สังเกตนิสัยของพืชพันธุ์แต่ละชนิด ชอบน้ำมากน้อยเพียงใด ชอบแดดจัดๆ หรือไม่ สังเกตนก แมลง หรือผีเสื้อในสวน ถ้าไม่มีพื้นที่ข้างนอก ก็ชวนลูกมาปลูกสวนลอยฟ้า

เกษตรกรตัวจิ๋วยังเป็นกิจกรรมเสริมพัฒนาการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น  สอนให้เด็กเรียนรู้การจดบันทึก คิดวิเคราะห์ ค้นหาเพิ่มเติม ควรส่งเสริมให้เด็กวาดภาพหรือถ่ายภาพต้นกล้าและลงวันที่ไว้

สมาชิกหน่วยซีล (SEAL)

ก่อนอื่นต้องหาแรงจูงใจเล่าเรื่องชวนตื่นเต้นให้เด็กรับรู้ก่อนว่าหน่วยซีลเป็นหนึ่งในหน่วยรบพิเศษที่เก่งและโหดที่สุดของโลก สมาชิกหน่วยต้องผ่านการฝึกหนักมาก

เมื่อคุณพ่อคุณแม่กระตุ้นต่อมอยากรู้ของลูกได้ผลแล้ว สมมติว่าคุณเป็นครูฝึกที่จะต้องเข้ามาตรวจยังค่ายทหาร สิ่งแรกที่ตรวจคือเตียงนอน มุมผ้าต้องเข้าเหลี่ยม ผ้าคลุมต้องตึงเปรี๊ยะ หมอนอยู่ใต้หัวเตียง พับผ้าห่มเรียบร้อยและวางไว้ใกล้ด้านปลายเตียง หากเด็กมีหมอนข้างก็ให้วางเป็นเส้นตรงขนานกับเตียง พ่อแม่ควรทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่างและช่วยเด็กเล็กจัดเตียงด้วย 

การจัดเตียงดูเป็นเรื่องธรรมดาแต่มีข้อคิดมัดใจคนทั่วโลก ตามที่พลเรือเอกวิลเลียม แฮร์รี่ แม็คเรเวน อดีตหน่วยซีล ได้กล่าวสุนทรพจน์ไว้ว่า “การเก็บที่นอนในตอนเช้าทุกวัน แสดงว่าคุณได้ทำงานแรกของวันสำเร็จไปเรียบร้อยแล้ว”

เกมหน่วยซีลนี้เป็นกิจกรรมครอบครัวที่ทำได้ทุกวัน เด็กจะได้ความภูมิใจเล็กๆ และกระตุ้นให้เขาอยากทำงานชิ้นต่อไป (ด้านล่าง) รวมทั้งยังทำให้คุณพ่อคุณแม่อารมณ์ดีที่ได้เห็นห้องนอนเจ้าตัวเล็กสะอาดสะอ้านด้วยนะ 

หนูน้อยจิตอาสา + หน่วยซีลพิรักษ์โลก  

เด็กจิตอาสาเป็นกิจกรรมครอบครัวต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิกหน่วยซีล นำกิจวัตรประจำวันมาเป็นกิจกรรมเสริมพัฒนาการและสร้างทักษะด้านแรงจูงใจให้เด็กด้วยการเป็นจิตอาสาทั้งในและนอกบ้าน โดยจะทำร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค หรือทำคนเดียวก็ได้ เช่น ปัดกวาดบ้าน ซักผ้า จัดโต๊ะอาหาร รดน้ำต้นไม้ ทำอาหาร ชวนกันทำความสะอาดของเล่นป้องกันเด็กป่วย

คุณพ่อคุณแม่ลองมอบหมายให้ลูกแต่ละคนช่วยเหลืองานบ้านตามวัย และพูดชมเชยในสิ่งที่ลูกช่วยทำงาน ลูกจะเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจ เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ 

การเป็นจิตอาสาในบ้านควรทำควบคู่ไปกับการเป็นจิตอาสาชุมชน เริ่มจากสิ่งที่ปฎิบัติในครอบครัว เช่น  แยกประเภทขยะ ใช้ถุงผ้าแทนพลาสติก รวบรวมเสื้อผ้าเก่าหรือของเล่นที่ไม่ได้แล้วบริจาคให้บ้านเด็กกำพร้า 

อย่าลืมส่งเสริมให้เด็กรู้จักคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรที่มีในบ้านให้เป็นประโยชน์สูงสุด สมาชิกในครอบครัวช่วยกันทำของเล่นจากขยะรีไซเคิล เช่น แปรงร่างกล่องกระดาษเหลือใช้มาเป็นบ้านตุ๊กตา 

หนอนหนังสือ 

การอ่านสร้างจินตนาการและเป็นกิจกรรมเสริมพัฒนาการได้ดีเยี่ยม ยิ่งไปกว่านั้น การอ่านเป็นการเตรียมสมองส่วนหน้าของเด็ก ให้เติบโตเป็นสมองที่มีประสิทธิภาพ เฉลียวฉลาด สามารถคิดเชิงวิเคราะห์และมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) อีกด้วย รวมทั้งยังสร้างพัฒนาด้าน EF ซึ่งเป็นสมองส่วนหน้าที่ควบคุมจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรม เด็ก วัย 3-6 ปี สามารถพัฒนาด้าน EF ได้มากที่สุด

การอ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวันๆ ละ 30 นาที จะให้ทั้งข้อคิด คำสอน การเรียนรู้มากมาย และเสริมพัฒนาการเด็ก ที่สำคัญเด็กจะได้ใกล้ชิดพ่อแม่ ได้แสดงความรักต่อกัน เป็นกิจกรรมครอบครัวที่เด็กต้องการอย่างแท้จริง

เผยแพร่ครั้งแรก