Unilever logo
Cleanipedia logo

อุณหภูมิเท่าไรที่ฆ่าเชื้อไวรัส เรามีคำตอบให้คุณ

คุณต้องการกำจัดเชื้อโรคบนเสื้อผ้าของคุณใช่หรือไม่ นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้ ตั้งแต่ความถี่ในการซักผ้าไปจนถึงน้ำยาซักผ้าที่ต้องใช้

อัปเดตเมื่อ

เวลาอ่าน: นาที

การซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้า

หากคุณสงสัยว่าคุณควรปรับเปลี่ยนการซักผ้าของคุณหรือไม่ คำแนะนำเหล่านี้ช่วยได้

เคล็ดลับต่อสู้กับเชื้อไวรัสบนเสื้อผ้า

  • ซักเสื้อผ้าของคุณทันทีหากคุณคิดว่าเสื้อผ้าของคุณผ่านการสัมผัสกับเชื้อไวรัส อย่าทิ้งไว้ในตระกร้าผ้าเพราะเชื้อไวรัสอาจแพร่กระจายได้

  • คุณควรสวมใส่ถุงมือหากต้องจัดการกับเสื้อผ้าของผู้ป่วยหรือคนที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย โดยทิ้งถุงมือทันทีเมื่อใช้เสร็จและล้างมือให้สะอาด

  • อย่าเขย่าเสื้อผ้าก่อนซัก เพราะคุณคงไม่อยากหายใจเอาฝุ่นเชื้อไวรัสที่ฟุ้งออกมาจากเสื้อผ้าเข้าไป

  • ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดของ ผ้าคลุมตัว หรือผ้าเช็ดหน้า ร่วมกับคนในบ้านหากมีใครป่วย

  • ใช้น้ำยาซักผ้าที่มีน้ำยาฟอกขาว (ตรวจสอบก่อนว่าผ้าที่จะซักสามารถซักด้วยน้ำยาฟอกขาวได้)

  • อย่าใส่เสื้อผ้าในเครื่องซักผ้าเต็มจนเกินไป เพราะเราต้องการให้ถังซักผ้ามีพื้นที่ให้ผ้าหมุนไปมา

  • เลือกรอบการซักแบบนาน (ไม่ใช้รอบแบบเร็ว)

  • ไม่สัมผัสใบหน้าหลังจับผ้าสกปรก โดยให้ล้างมือทันที

  • เก็บผ้าที่แห้งสนิทเท่านั้น (ผ้าชื้นช่วยให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจาย)

คำถามเด็ดๆ เรื่องซักผ้า เรามีคำตอบ

เชื้อไวรัสมาอยู่บนเสื้อผ้าได้อย่างไร

เชื้อไวรัสมาอยู่บนเสื้อผ้าผ่านละอองการไอและจาม รวมถึงสารคัดหลั่งจากร่างกาย เช่น น้ำลาย นอกจากนี้ เชื้อไวรัสยังมากับการสัมผัสได้ด้วย เช่น หากมีผู้ป่วยใช้มือปิดปากเวลาจาม จากนั้นมาจับเสื้อแจ๊คเก็ตของคุณ หรือคุณบังเอิญไปนั่งบนเก้าอี้ที่มีคนจามใส่

เชื้อแบคทีเรีย เชื้อโรค และเชื้อไวรัส อยู่บนเสื้อผ้าได้นานเท่าไร

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อผ้าและชนิดของเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย สิ่งที่เราควรจดจำก็คือ เชื้อแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตบนพื้นผิวที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตได้ ในขณะที่เชื้อไวรัสทำไม่ได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว เชื้อไวรัสจะสามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวที่ไม่มีชีวิตได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น

ผ้าชนิดใดที่ง่ายต่อการจับเชื้อโรคหรือไม่

เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราพูดถึงเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ผ้าชนิดใดก็สามารถจับเชื้อโรคได้ทั้งนั้น แต่เนื้อผ้าบางชนิดจะจับเชื้อโรคไว้นานกว่าชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตบนผ้าที่ไม่มีรูพรุน หรือผ้าโพลีเอสเตอร์ ได้นานกว่าผ้าที่มีรูพรุน หรือผ้าคอตตอน อีกอย่างที่เราควรจดจำก็คือ เชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่บนกระดุมพลาสติกและซิปเหล็กได้นาน 2-3 วัน

เราควรซักผ้าด้วยอุณหภูมิเท่าไรเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส

คุณควรซักเสื้อผ้าที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า แต่ผ้าที่เปราะบางและผ้าใยสังเคราะห์อาจถูกทำลายโดยความร้อนได้ ดังนั้น ให้เลือกใช้อุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามที่ระบุบนป้ายวิธีดูแลเสื้อผ้า และให้เลือกรอบการซักที่นาน

น้ำยาซักผ้าแบบใดที่เราควรใช้สำหรับกำจัดเชื้อโรค

กรมควบคุมโรคแนะนำว่า น้ำยาซักผ้าที่มีส่วนผสมของน้ำยาฟอกขาวมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม น้ำยาฟอกขาวอาจทำให้เสื้อผ้าสีเข้มหรือเสื้อผ้าสีจางลงได้ ดังนั้น จึงควรอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ก่อนใช้ หากน้ำยาซักผ้าของคุณไม่มีส่วนผสมของน้ำยาฟอกขาว คุณอาจใส่ผงฟอกขาวเพิ่มเติมได้

เราควรซักเสื้อผ้าบ่อยแค่ไหน

อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับโอกาสในการสัมผัสเชื้อไวรัสของคุณ หากคุณอยู่อาศัยกับผู้ป่วยหรือคนที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย คุณควรซักเสื้อผ้าทุกวัน อีกทั้งไม่ควรใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดของ ผ้าคลุมตัว และแม้กระทั่งเครื่องนอน (หากเป็นไปได้) ร่วมกับผู้ป่วย

เราควรซักเสื้อผ้าทุกครั้งที่กลับมาจากข้างนอกในแต่ละวันหรือไม่

หากคุณคิดว่าคุณมีโอกาสในการสัมผัสกับเชื้อไวรัส (เช่น หากคุณไปอยู่ในพื้นที่แออัดและอาจมีผู้ป่วย) คุณควรซักเสื้อผ้าทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อไวรัส (เช่น บุคลากรทางการแพทย์ อาทิ แพทย์และพยาบาล) ควรถอดเสื้อผ้าทันทีที่เข้าบ้าน จากนั้นนำเครื่องแบบใส่ในเครื่องซักผ้าทันที อาบน้ำ เช็ดประตูและปุ่มต่างๆของเครื่องซักผ้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และล้างมือให้สะอาด

แต่ถ้ากคุณไม่อยากวิ่งแก้ผ้ารอบบ้าน ขอแนะนำให้ คุณนำเสื้อผ้าใส่ในปลอกหมอนหรือถุงซักผ้าไว้ก่อนในระหว่างที่คุณอาบน้ำ จากนั้นก็ค่อยนำเสื้อผ้าไปใส่เครื่องซักผ้า

หากคนในบ้านป่วย เราควรแยกซักเสื้อผ้าและเครื่องนอนหรือไม่

ควรแยกซักเสื้อผ้าที่มีความสกปรกมาก (เช่น เสื้อผ้าที่เปรอะเลือด อุจจาระ หรืออาเจียน) ออกจากเสื้อผ้าอื่นๆ

เราควรมีวิธีการซักเสื้อผ้าที่ต่างออกไปหรือไม่ หากทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย

ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำงานที่ไหน คุณอาจต้องใส่ใจในการซักเสื้อผ้ามากขึ้นเป็นพิเศษ โดยหากคุณอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงพยาบาล คุณอาจต้องซักเสื้อผ้าทันทีที่กลับถึงบ้าน

เพื่อความปลอดภัย คุณควรใช้น้ำยาซักผ้าที่มีน้ำยาฟอกขาว โดยเลือกการซักผ้าแบบอุณหภูมิสูง (70 องศาเซลเซียส หรือ สูงกว่า) และเลือกรอบการซักที่นาน เครื่องแบบส่วนใหญ่สามารถซักได้ด้วยน้ำที่อุณภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม คุณควรตรวจสอบวิธีดูแลเสื้อผ้าที่ปรากฎบนป้ายเพื่อป้องกันความเสียหาย

คุณควรแยกซักเสื้อผ้าที่มีสิ่งสกปรกมากๆ จากเสื้อผ้าอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อน และอย่าลืมล้างมือหลังจากทำการซักเสื้อผ้า

เราจะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคติดบนเสื้อผ้าได้อย่างไร

ก่อนอื่นคุณควรลดความเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ป่วย ควรอยู่ห่างจากผู้ป่วยอย่างน้อย 2 เมตร ถึงแม้บุคคลนั้นอาจไม่แสดงอาการใดๆ หากคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ซักเสื้อผ้าบ่อยๆ และควรซักเสื้อผ้าด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสและใช้น้ำยาซักผ้าที่มีน้ำยาฟอกขาว

เราควรล้างมือหลังจากนำเสื้อผ้าใส่เครื่องซักผ้าหรือไม่

ควร หากคุณคิดว่าเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรือเครื่องนอนของคุณอาจมีเชื้อโรค คุณควรล้างมืออย่างพิถีพิถันด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที การล้างมือต้องครอบคลุมทุกพื้นที่บนมือ (รวมถึงนิ้วและหัวแม่มือ) และข้อมือ ขั้นตอนการล้างมือที่ถูกวิธี

เราควรแช่เสื้อผ้าก่อนซักหรือไม่

โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนนี้ไม่มีความจำเป็น แต่หากคุณมีความกังวล คุณอาจแช่เสื้อผ้าในส่วนผสมของน้ำยาฟอกขาวชนิดออกซิเจนและน้ำประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนนำเสื้อผ้าลงในเครื่องซักผ้า อย่างไรก็ตาม ตรวจสอบวิธีดูแลเสื้อผ้าที่ปรากฎบนป้ายก่อน เนื่องจากน้ำยาฟอกขาวอาจทำให้สีเสื้อผ้าจางและอาจทำลายเสื้อผ้าได้

เราควรทำความสะอาดหนังและไวนิลอย่างไรดี

คุณอาจต้องเช็ดเสื้อผ้าที่ซักไม่ได้ด้วยกระดาษที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เสื้อแจ๊คเก็ตหนัง โดยก่อนที่จะลงมือเช็ด ให้ทดสอบที่บริเวณด้านในของเสื้อแจ๊คเก็ตก่อน เพื่อทดสอบให้แน่ใจว่ากระดาษที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคไม่ทำให้สีของหนังเปลี่ยนไป

เครื่องอบผ้าฆ่าเชื้อโรคได้หรือไม่

ความร้อนของเครื่องอบผ้าสามารถฆ่าเชื้อโรคส่วนใหญ่ได้ แต่คุณต้องมั่นใจว่าเสื้อผ้าแห้งสนิทก่อนจะนำเสื้อผ้าออกมาจากเครื่องอบผ้า เพราะหากคุณเก็บเสื้อผ้าที่ชื้น อาจช่วยให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติมโต แต่หากคุณไม่มีเครื่องอบผ้าก็ไม่ต้องกังวล เพราะเชื้อโรคต่างๆควรจะถูกกำจัดในเครื่องซักผ้าไปเรียบร้อยแล้วหากคุณปฏิบัติตามวิธีด้านบน หรืออีกวิธีก็คือการตากผ้ากลางแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค

เผยแพร่ครั้งแรก