คุณคงคุ้นหูกับคำว่า “Quarantine” (ควอรันทีน) มาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก แปลสั้นๆ ว่า “การกักตัว" ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันโควิดที่ได้ผล เพราะนี่คือการควบคุมหรือเฝ้าระวังจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรคเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคนั่นเอง
การกักตัวยังแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ Home-quarantine (โฮม ควอรันทีน) หมายถึงการกักตัวอยู่ในบ้านหรือที่พักตัวเอง และ State-quarantine (สเตท ควอรันทีน) คือการเก็บตัวอยู่ในที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ ได้แก่ โรงแรมหรือสถานที่พักที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปบริหารจัดการในการกักตัว
ยกตัวอย่าง ผู้ที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร (UK.) ทั้งคนไทยและคนต่างชาติจะต้องกักตัวแบบสเตท ควอรันทีน หากเป็นคนไทยที่เดินทางกลับด้วยสายการบินไทยตามไฟลท์ที่รัฐจัดไว้ก็จะได้กักตัวฟรี แต่ถ้าบินกับสายการบินอื่นหรือเป็นชาวต่างชาติก็จะต้องเสียเงินค่ากักตัวให้กับโรงแรมที่กักตัวด้วย (ตามข้อมูล ณ เวลาที่เขียน)
2 กลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัว
ผู้ใดก็ตามที่กลับมาจากต่างประเทศและเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ อิตาลี อิหร่าน เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษและสหราชอาณาจักร (ตามข้อมูล ณ วันที่เขียน) จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน บุคคลดังกล่าวอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโดยตรงที่อาจสัมผัสกับเชื้อ
นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงสูงที่สองก็คือ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อก็จะต้องแยกตัวเพื่อสังเกตอาการที่ที่พักของตัวเองเป็นเวลา 14 วันเช่นกัน
3 หลักจำเป็นในการกักตัว
เรามีหลักง่ายๆ ในการปฎิบัติตัวเวลากักตัวและเป็นเทคนิควิธีป้องกันโควิดอีกด้วย แค่เพียงใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือและรู้จักวิธีล้างมือที่ถูกต้อง รวมทั้งอยู่แต่ในที่พัก ไม่เดินทางออกจากที่พัก อธิบายชัดๆ ก็คือ คุณควรหยุดงาน หยุดเรียน งดเดินทางไปในที่ชุมชนหรือที่เสี่ยงและงดใช้ขนส่งสาธารณะ
กักตัวต้องทำอะไรบ้าง อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ
ก่อนอื่นคุณต้องเลือกว่าจะกักตัวอยู่ในที่พักคนเดียวแบบเก็บตัวเงียบๆ หรือต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในครอบครัว เพราะมีแนวทางปฎิบัติแตกต่างกันตามที่ผู้ใหญ่ใจดีกระทรวงสาธารณสุขบอกมา
สเต็ป 1 จัดที่พักและอุปกรณ์กักตัวให้พร้อมสรรพ
เตรียมอุปกรณ์ป้องกันโควิดไว้ให้ใกล้ตัว เช่น ปรอทวัดไข้ ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า สบู่ แอลกอฮอล์เจลเข้มข้นอย่างน้อย 70%
พื้นผิวสัมผัสต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อบ่อยๆ ดังนั้นอุปกรณ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อจึงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ สารฟอกขาว ถุงขยะ ควรจัดถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดไว้นอกบ้าน
คุณต้องอยู่ในห้องพักมีอากาศถ่ายเท ปลอดโปร่งและแสงแดดเข้าถึง ต่อจากนั้นคุณควรแยกห้องนอนและห้องน้ำออกจากผู้อื่นในบ้าน (ถ้าทำได้) และแยกของใช้ส่วนตัว จำพวก เสื้อผ้า เครื่องนอน ผ้าห่ม ผ้าขนหนู จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ โดยต้องแยกทำความสะอาดฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย
สเต็ป 2 กรณีกักตัวอยู่บ้านคนเดียว
หมั่นล้างมือด้วยน้ำและฟอกสบู่ให้ทั่วไม่ต่ำกว่า 20 วินาที (ร้องเพลงช้างสองรอบ) หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทุกวันควรวัดอุณหภูมิตัวเองเพื่อเช็กว่าไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ควรทำความสะอาดห้องน้ำ โถส้วมและอ่างล้างมือหลังใช้งาน
ควรปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอหรือจาม ทิ้งทิชชูในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิท ก่อนจะทำความสะอาดมือทันที
คุณควรรู้จริงเรื่องการแยกขยะที่ถูกสารคัดหลั่ง เช่น ทิชชู หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง โดยให้นำไปใส่ในถุงขยะสองชั้น ราดด้วยน้ำยาฟอกขาวเล็กน้อย มัดปากถุงให้แน่นก่อนจะนำไปทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
หากมีความจำเป็นต้องพบปะหรือสนทนากับผู้อื่น เช่น อาจมีคนมาส่งอาหาร หรือครอบครัวมาเยี่ยม (ทางที่ดีควรจำกัดคนเยี่ยม) ควรใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง 2 เมตร และพยายามพูดคุยอย่างรวดรัดใช้เวลาให้สั้นที่สุด
สเต็ป 3 กรณีกักตัวกับครอบครัวหรือพักกับผู้อื่น
“4 แยก” เราขอสรุปข้อปฎิบัติง่ายๆ เพื่อให้คุณนำไปใช้ระหว่างกักตัว 14 วัน ดังนี้
แยกตัวออกมา หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดหรือสัมผัสตัวกับผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือมีประจำตัว เช่น เบาหวาร ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หรือภูมิแพ้ รวมทั้งไม่ควรใกล้ชิดเด็กหรือกอดลูกหรือหลาน ควรรักษาระยะห่าง 2 เมตร
แยกสำรับ แยกรับประทานอาหาร ไม่ควรร่วมวงรับประทานอาหารกับผู้อื่น ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว ตักแบ่งอาหารมารับประทานต่างหากและล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจาน ตากแดดและผึ่งให้แห้ง
แยกห้องนอน แยกของใช้ส่วนตัวทุกอย่างและแยกทำความสะอาดด้วย
แยกห้องน้ำ แต่ถ้าในบ้านมีห้องน้ำหนึ่งห้อง ก็ควรทำความตกลงเรื่องเวลาใช้กับผู้อาศัยคนอื่นว่า ขอใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดหลังใช้ทันทีโดยเน้นพื้นผิวสัมผัส ที่สำคัญจะต้องปิดฝาก่อนกดปุ่มชักโครกทุกครั้ง
สเต็ป 4 เช็กลิสต์คนในครอบครัว
คนในครอบครัวของผู้กักตัวสามารถออกไปข้างนอก ไปทำงานหรือเรียนหนังสือได้ตามปกติ โดยจะต้องพิจารณาให้ละเอียดตามเงื่อนไขของสถานที่เหล่านั้น
มาดูกันว่าวิธีป้องกันโควิดหากคุณต้องอยู่ร่วมกับผู้ที่ถูกกักตัว คุณต้องทำอะไรบ้าง
กรณีใช้ห้องนํ้าร่วมกัน ควรระวังจุดเสี่ยง เช่น บริเวณโถส้วม อ่างล้างมือ ก๊อกน้ํา ลูกบิดประตู และล้างมือด้วยนํ้าและสบู่ทุกคร้ัง
ไม่ควรกินอาหารสำรับเดียวกัน หรือใช้ภาชนะร่วมกัน ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของสมาชิกในบ้าน
แบ่งเวรทำความสะอาดฆ่าเชื้อจุดเสี่ยงในบ้าน เช่น สวิตช์ไฟ ก๊อกน้ำ
เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ
หากสมาชิกในบ้านเผลอไปสัมผัสตัวหรือไปโดนสารคัดหลั่ง ผู้นั้นก็ควรเฝ้าระวังด้วยการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน หลังสัมผัสกับผู้ป่วย
สัญญาณติดเชื้อโควิด
วิธีป้องกันโควิดที่สำคัญก็คือ คุณต้องเฝ้าสังเกตอาการของตัวเอง วัดอุณภูมิร่างกายทุกวัน จดบันทึกเป็นรายวันด้วย ในขณะกักตัว 14 วัน ผู้ป่วยมักแสดงอาการติดเชื้อโควิดในวันที่ 5-6
หากมีไข้เกิน 37.5 องศา มีอาการไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหอบ ไม่รู้รสและไม่ได้กลิ่น ขอให้รีบติดต่อแพทย์ทันทีพร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคติดต่อหรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ของคุณและต้องแจ้งประวัติการเดินทางด้วย
หากมีความจำเป็นต้องออกไปพบแพทย์ ไม่ควรใช้ขนส่งสาธารณะทุกประเภท หรือถ้าจำเป็นต้องใช้แท็กซี่ ก็ควรแจ้งให้คนขับแท็กซี่ทราบและใส่หน้ากากอนามัยตลอดเส้นทาง พยายามไม่สัมผัสพื้นผิวใดๆ ที่ไม่จำเป็น
10 วิธีคลายเหงายามกักตัว
เรามาเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสกันดีกว่า ลองมองหางานอดิเรก หรือพัฒนาทักษะใหม่ๆ มาดูกันว่ามีกิจกรรมใดบ้าง
ในขณะกักตัว คุณสามารถ Work from home หรือเรียนออนไลน์ได้สบายๆ ขอให้มีอินเตอร์เน็ตก็พอ
ผูกผ้ากันเปื้อนแล้วเข้าครัว ฝึกทำอาหารโฮมเมด คิดค้นเมนูใหม่ๆ บางทีคุณอาจค้นพบตัวเองและอาจได้เมนูกักตัวเก๋ๆ
หาหนังสือเล่มโปรดหรือหนังสือที่เคยซื้อมาเก็บไว้ มาปัดฝุ่นแล้วแปรงร่างเป็นหนอนหนังสือ หรือจะเลือกอ่าน E Book ก็ตามสะดวก
เลือกซีรีย์ออนไลน์หรือหนังชุดที่ชอบ แต่หาเวลาดูไม่ได้เสียที ยามนี้ละ เหมาะที่สุด
ช็อปปิ้งออนไลน์เพลินๆ แต่อย่าเพลินจนเกินไปจนกระเป๋าสตางค์เบาหวิวก็แล้วกัน
ออกกำลังกายอยู่บ้าน กักตัวเสร็จคุณก็จะได้โชว์หุ่นปัง กระชากวัยไปเลย
งานฝีมือ งานศิลปะ ใครเป็นสายอาร์ตอาจจะใช้เวลาตรงนี้มาทำโปรเจ็กท์เท่ๆ สักชิ้น
คุณนายและคุณชายสะอาด ลองจัดห้องใหม่ เปลี่ยนมุมเก่าๆ ทำให้บ้านหอม ให้สวยเก๋ราวกับหลุดออกมาจากแม็กกาซีน
ชวนเป็นสายกรีน ลองจัดสวน สวนถาดหรือสวนในโหลแก้ว ลองสั่งวัสดุทางออนไลน์ดู
เขียนรีวิว เขียนไดอารี่ แชร์ประสบการณ์การกักตัว หรือรีวิวผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจกลายเป็นช่องทางเสริมหารายได้เพิ่มหรือกลายเป็นเน็ตไอดอลชั่วข้ามคืนนะจ๊ะ
ช็อปป้ิงลิสต์! วางแผนซื้อของกักตัวให้รอดใน 14 วัน
คุณคงมีคำถามว่าจะเมื่อกักตัว จะต้องทำอย่างไรในเรื่องอาหารการกิน ถ้าไม่อยากสั่งดิลิเวอรี่ทุกวัน
เริ่มจากหาของกินที่มีประโยชน์และเก็บได้นานติดบ้านไว้ เช่น ถั่วและผลไม้แห้งที่เก็บไว้ได้นาน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้เรากินผลไม้แทนขนมหวาน ควรเลือกชนิดที่ไม่เคลือบน้ำผึ้งหรือน้ำตาล เช่น ลูกเกด สตอร์เบอรี่อบแห้ง กล้วยตาก
หมวดเนื้อสัตว์ หาเนื้อสัตว์ไขมันน้อยและเนื้อปลานำไปใส่ในช่องแช่แข็ง ควรหาเห็ด สาหร่าย และถั่วเหลือง ซึ่งเก็บรักษาง่ายกว่าเนื้อสัตว์แถมมีประโยชน์พอๆ กัน อย่าลืมหาซื้อน้ำมันพืชติดครัวไว้ด้วย เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่ควรกินน้ำมันมากกว่าวันละเก้าช้อนชา
ส่วนผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน เช่น มันฝรั่ง มันหวาน ขิง กระเทียม พริกขี้หนู มะนาว หอมใหญ่ หอมแดง กะหล่ำปลี บล็อกโคลี่ แครอท
ด้านผู้เชี่ยวชาญหัวครีเอทีฟอย่างสสส. ได้แจกทิปส์วิธีนับปริมาณการปรุงอาหารด้วยสูตร 6:6:1 โดยในหนึ่งวันเราไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา ไขมัน 6 ช้อนชา เกลือ 1 ช้อนชา
คาถาแก้จิตตกเวลากักตัว
ขอให้เรารับผิดชอบต่อสังคม ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้นิ่งดูดาย
เป้าหมายจริงๆ ของ Quarantine ก็คือให้เราสังเกตตัวเองและเช็กสัญญาณและอาการหากติดเชื้อโควิด ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องนั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดกัดกลืนความเครียดอยู่คนเดียว ลองทำกิจกรรมดีๆ ที่เรานำเสนอไว้ข้างต้นดู
ไม่แน่ว่าการกักตัว 14 วันอาจกลายเป็นความทรงจำดีๆ ของคุณไปตลอดชีวิตเลยนะ