คุณอยากรู้วิธีเก็บผักสดให้อยู่ได้นานหรือไม่ ยิ่งยุคนี้กระแสเฮลตี้มาแรง อาหารคลีน อาหารออแกนิค และอาหารเจ คุณต้องจ่ายตลาดซื้อผักและผลไม้เพิ่มขึ้น แต่เก็บได้ไม่กี่วัน ผักผลไม้ก็เริ่มเหี่ยวและเน่าเสีย กินไม่เคยทันต้องทิ้งก่อนทุกที เราคิดว่าปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ผักผลไม้ แต่อยู่ที่วิธีเก็บที่ผิดต่างหาก
ทำไมผักและผลไม้ถึงเสียง่าย
วิธีเก็บผักสดให้อยู่ได้นาน คุณต้องเข้าใจก่อนว่าอะไรคือผู้ร้ายที่ทำให้ผักเหี่ยวเฉาและผลไม้เน่าเสีย แน่นอนว่าผักและผลไม้ย่อมเสียได้ง่ายเมื่อตัดออกมาจากต้น เพราะถูกตัดขาดจากแหล่งน้ำและอาหาร สภาพแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญมาก ทั้งอุณหภูมิ ความร้อน แสง ความชื้น อากาศ และการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ไม่ว่าจะแบคทีเรีย ยีสต์ หรือเชื้อรา
การหยิบจับผักผลไม้ การขนส่ง และวิธีเก็บผลไม้ในตู้เย็นจึงต้องทำด้วยความทะนุถนอม เพราะถ้าผักและผลไม้เริ่มเสียหาย ซึ่งสังเกตได้จากรอยดำ รอยช้ำ รูแมลงเจาะ เมือกเหนียว ส่งกลิ่นเหม็น หรือมีเชื้อราเกาะ ความเสียหายจะลุกลามได้เร็วมาก และถึงแม้ในบางครั้งความเสียหายอาจไม่ถึงขั้นต้องทิ้ง แต่รสชาติและคุณค่าของสารอาหารในผักและผลไม้อาจลดลง
7 วิธีเก็บผักสดให้อยู่ได้นานและผลไม้ให้สดอยู่เสมอ
จะให้ไปจ่ายตลาดกันบ่อยๆ เพียงซื้อผักหยิบกำมือหรือผลไม้ลูกสองลูก ก็อาจจะไม่คุ้มค่ากับการเดินทาง ไหนจะตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่ชอบมีนาทีทองลดราคาผลไม้นอก โอกาสแบบนี้จะให้พลาดได้อย่างไร ดังนั้น การเก็บผักและผลไม้ให้คงความสดจึงสำคัญมาก ทั้งต่อสุขภาพและเงินในกระเป๋า
#1 ถึงบ้านปุ๊บ เข้าตู้เย็นปั๊บ
ก่อนจ่ายตลาดซื้อผักและผลไม้ คุณควรคำนวณปริมาณที่จะกินให้พอดีกับการมาจ่ายตลาดครั้งหน้า เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องทิ้ง แถมทำให้คุณได้กินผักผลไม้ที่สดใหม่ตลอดเวลา
โดยเมื่อจ่ายตลาดเสร็จ คุณควรรีบนำผักและผลไม้ใส่ตู้เย็น เพราะในอากาศเต็มไปด้วยแบคที่เรียและเชื้อรา
ยิ่งคุณวางผักและผลไม้ไว้นอกตู้เย็นนานเท่าไร จุลินทรีย์เหล่านี้ก็จะยิ่งเจริญเติบโตทำให้ผักและผลไม้คุณเหี่ยวและเน่าเร็วขึ้น
#2 แช่ผักและผลไม้ ใช้ช่องวิเศษในตู้เย็น
เวลาคุณรีบๆ คุณอาจแค่ค้นหาที่ว่างในตู้เย็นเพื่อแช่สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เพราะตู้เย็นมีการจัดชั้นและพื้นที่ให้อุณหภูมิเหมาะกับการแช่ของแต่ละประเภท ถ้าเป็นช่องแช่ผักก็จะเป็นลิ้นชักที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งทำมาเพื่อให้มีความชื้นสูงกว่าช่องอื่นๆ ในตู้เย็น รวมถึงมีอุณหภูมิที่เย็นพอเหมาะกับการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ และไม่เย็นเกินไปจนทำให้เนื้อเยื่อของผักและผลไม้เป็นน้ำแข็ง เพื่อคงความสดให้กับผักและผลไม้
ถึงจะเป็นช่องเฉพาะ แต่คุณก็ต้องมีการปรับระดับความชื้น เพราะผักและผลไม้มีหลายชนิดและมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
วิธีเก็บผักสดให้อยู่ได้นาน - ถ้าเป็นผักใบเขียวที่เหี่ยวเฉาง่าย ต้องปรับระดับความชื้นให้สูงเพื่อไม่ให้ผักขาดน้ำ
วิธีเก็บผลไม้ในตู้เย็น - ถ้าเป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่าย ต้องปรับระดับความชื้นให้ต่ำ เพื่อป้องกันเนื้อผลไม้ไม่ให้ยุ่ยและป้องกันจุลินทรีย์กัดกิน
#3 ขาดอากาศ แต่คงความสด
เรากำลังพูดถึงการเก็บผักด้วยวิธีสูญญากาศ ซึ่งสามารถทำได้กับผลไม้บางชนิดที่ไม่อ่อนนุ่มด้วย การไล่อากาศออกจนหมดและปิดถุงให้สนิท จะทำให้ผักและผลไม้ไม่สูญเสียความชื้น รวมถึงป้องกันจุลินทรีย์เจริญเติบโต
นอกจากนี้ การไม่มีอากาศยังช่วยหยุดปฏิกิริยาต่างๆ ที่ใช้ออกซิเจน อย่างออกซิเดชั่นที่ทำให้ผักผลไม้เปลี่ยนสีและสภาพ แถมยังรักษากลิ่นและสารอาหารให้คงอยู่ด้วย
การเก็บผักแบบสูญญากาศต้องมีการจัดเตรียมผักก่อน คุณไม่ควรใส่ผักที่ซื้อมาในถุงและซีลสูญญากาศทันที เพราะจะทำให้มีเชื้อโรคติดเข้าไปด้วย คุณควรเอาเศษดินออก เด็ดใบหรือตัดส่วนที่เน่าเสียของผักออกให้หมด สุดท้ายนำผักไปล้างเพื่อขจัดเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง
ผงฟู - เตรียมน้ำประมาณ 10 ลิตร ใส่ผงฟูลงไปครึ่งช้อนโต๊ะ จากนั้นนำผักและผลไม้ลงไปแช่นาน 15 นาที ก่อนจะล้างด้วยน้ำสะอาด
น้ำส้มสายชู - เตรียมน้ำประมาณ 4 ลิตร ใส่น้ำส้มสายชูลงไป 1 ช้อนโต๊ะ แช่ผักและผลไม้ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
เมื่อล้างเสร็จแล้ว ผึ่งให้แห้งสนิทก่อนนำไปใส่ในถุงสูญญากาศ หากคุณต้องการประหยัดพื้นที่แช่หรือเพื่อทำให้ง่ายต่อการนำมาใช้งาน คุณอาจตัดผักให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำไปบรรจุใส่ถุง
#4 กระดาษช่วยชีวิต
รองพื้นช่องเก็บผักในตู้เย็นด้วยกระดาษทิชชูแบบหนาสำหรับใช้ในห้องครัว เพื่อช่วยดูดซับความชื้นส่วนเกิน โดยความชื้นส่วนเกินอาจเกิดจากการแช่ผักและผลไม้แน่นเกินไป หรือมีสิ่งกีดขวางช่องควบคุมความชื้นที่ด้านหลังจนทำให้เกิดหยดน้ำในช่องแช่ผัก
บางกรณีที่เราต้องการเก็บความชื้น กระดาษก็ช่วยได้เช่นกัน ถ้าคุณต้องการเก็บผักใบเขียว ให้คุณใส่ผักในชาม คลุมด้านบนด้วยกระดาษทิชชูอย่างหนา จากนั้นห่อด้วยฟิล์มใสห่ออาหาร เท่านี้ผักก็จะไม่สูญเสียความชื้น จึงทำให้ใบไม่เหี่ยวเฉา
#5 ผักและผลไม้ ให้แยกกันอยู่
ผลไม้มีทั้งแบบที่ยังสุกไปเรื่อยๆ หลังการเก็บ และแบบที่หยุดการสุกหลังจากเก็บ โดยกลุ่มแรกจะปล่อยฮอร์โมนพืชในรูปของก๊าซที่เรียกว่าเอทิลีน ดังนั้น คุณจึงควรแยกการแช่ผลไม้กลุ่มนี้ออกจากผัก เพราะฮอร์โมนจะไปกระตุ้นให้ผักเหี่ยวเร็วขึ้น ผลไม้กลุ่มนี้ควรแช่ในความชื้นระดับต่ำเพื่อลดความเข้มข้นของก๊าซเอทิลีนในช่องแช่
วิธีเก็บผลไม้ในตู้เย็นจะไม่เหมาะกับผลไม้บางชนิดเพราะจะทำให้หยุดการสุก สูญเสียรสชาติ และเปลี่ยนสภาพของเนื้อ เช่น กล้วยจะไม่สุกและเปลือกจะเป็นสีดำ ส่วนใหญ่แล้ว ผลไม้ที่ยังไม่สุกเต็มที่ควรทิ้งไว้ข้างนอกเพื่อปล่อยให้สุกได้รสชาติที่อร่อย จากนั้นหากคุณอยากเก็บให้นานขึ้น ก็สามารถนำไปแช่ตู้เย็นได้
#6 กำจัดจุดอ่อน ทิ้งผักและผลไม้ที่เริ่มเน่า
อย่าให้ความเสียดายทำให้คุณต้องทิ้งผักและผลไม้ที่ยังมีสภาพดีไปด้วย หากคุณพบผักและผลไม้ที่แช่ในดูเย็นเริ่มเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสี และแลดูเริ่มเน่าเสีย ให้รีบทิ้งผักผลไม้เหล่านั้น ก่อนที่จุลินทรีย์จะลุกลามไปยังผักผลไม้สภาพดีที่อยู่ใกล้เคียง
เมื่อคุณกำจัดผักผลไม้เน่าเสียออกจากตู้เย็นแล้ว ควรเช็ดทำความสะอาดตู้เย็นเพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจหลงเหลืออยู่ด้วย เพียงใช้น้ำผสมน้ำส้มสายชูเช็ดด้านในของตู้เย็น
แต่ถ้าให้ง่ายกว่านั้น เราขอแนะนำให้เช็ดด้วยน้ำยาล้างจานซันไลต์แอนตี้แบคแบบขวดเดียวจบ เท่านี้ก็ขจัดคราบ ลดกลิ่น และฆ่าเชื้อโรค แบบทรีอินวัน และคุณจะวางถ่านไว้ในตู้เย็นเพื่อช่วยดูดกลิ่นและความชื้นด้วยก็ได้
#7 จัดตู้เย็นให้เพอร์เฟค
วิธีเก็บผักสดให้อยู่นานและเก็บผลไม้ให้สดเสมอ คุณต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในตู้เย็นด้วย การเก็บอาหารประเภทอื่นๆ ให้ดีและป้องกันไม่ให้เน่าบูด ก็เป็นการลดปริมาณเชื้อโรคและแบคทีเรียในตู้เย็นโดยรวม คุณจึงควรแช่ของแต่ละประเภทให้ตรงตามที่ตู้เย็นออกแบบมา
ช่องฟรีซ - เย็นที่สุดในตู้เย็นจึงเหมาะกับการแช่อาหารแช่แข็งหรืออาหารที่ต้องการเก็บไว้นานๆ
ชั้นบน - ความเย็นปานกลาง เหมาะกับอาหารพร้อมทาน
ชั้นล่าง - เย็นรองลงมาจากช่องฟรีซ เหมาะกับอาหารสด แต่ไม่ควรแช่ของให้แน่นเกินไป เพราะจะบังการไหลเวียนของอากาศ
ลิ้นชักล่าง - สำหรับผักและผลไม้
ประตูตู้เย็น - รับความร้อนเมื่อมีการเปิดปิด จึงควรแช่อะไรที่ไม่เสียง่าย เช่น น้ำ เครื่องปรุง
อาหารที่มีของเหลวเป็นส่วนประกอบ มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหล ควรใส่ในกล่องปิดให้มิดชิด เพื่อไม่ให้หกเลอะเทอะในตู้เย็นจนเกิดเป็นสิ่งสกปรก เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค แบคทีเรีย และเชื้อรา
4 วิธีถนอมอาหาร ทานไม่ทันก็ไม่ทิ้ง
หากคุณดูแล้วว่ากินผักและผลไม้ไม่ทันแน่ๆ หันมาใช้วิธีถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินในรูปแบบอื่นดีกว่า เราขอนำเสนอไอเดียการแปรรูปผักผลไม้ง่ายๆ
ผลไม้กวน
นำผลไม้ที่มีเนื้อเยอะและสุกงอมมาบด เติมน้ำตาลลงไปตามใจชอบ บางสูตรอาจใส่น้ำกะทิลงไปด้วย เคี่ยวบนไฟอ่อนจนน้ำระเหยออก และเนื้อมีลักษณะเหนียวเหมือนทอฟฟี่ ผลไม้ที่เหมาะจะนำมากวน ได้แก่ กล้วย สับปะรด ทุเรียน
แยมผลไม้
วิธีทำแยมก็จะคล้ายๆ กับการทำผลไม้กวน คือ ต้องใช้เนื้อผลไม้บด เคี่ยวกับน้ำตาลและน้ำ บางสูตรอาจมีการใส่แผ่นเจลาตินลงไปด้วยเพื่อให้แยมมีลักษณะเป็นเนื้อเยลลี่
ผลไม้เชื่อม
อีกวิธีถนอมอาหารที่ใช้น้ำตาลเป็นตัวยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ การเชื่อมคือการนำผลไม้เป็นชิ้นหรือเป็นลูกไปต้มในน้ำกับน้ำตาลจนน้ำเข้าไปอยู่ในเนื้อของผลไม้ สามารถเสริฟพร้อมน้ำแข็งแบบผลไม้ลอยแก้ว หรือราดกะทิแบบกล้วยเชื่อม หรืออาจเชื่อมจนแห้งแบบพุทรา
ผักและผลไม้แห้งหรืออบกรอบ
การอบหรือการตากแดด เป็นวิธีถนอมอาหารโดยการใช้ความร้อนทำให้น้ำระเหยออกจากเนื้อผักและผลไม้จนเหลือความชื้นที่น้อยมาก จึงไม่เพียงพอต่อการเจริญเติมโตของจุลินทรีย์
ชีวิตหวานไปไม่ใช่ดี
เมื่อคุณรู้วิธีเก็บผักสดให้อยู่ได้นานและเก็บผลไม้ให้สดอร่อย จากนี้คุณก็จ่ายตลาดได้อย่างไร้กังวล ขออย่างเดียวระวังทานเพลินจนเผลอลืมไปว่าผักและผลไม้ก็มีน้ำตาล ควรทานแต่พอดีอย่าให้น้ำตาลเกินล่ะ