Unilever logo
Cleanipedia logo

สัญลักษณ์บนเสื้อผ้าหมายถึงอะไร คลายข้อสงสัยพร้อมไขวิธีอ่าน

ถอดรหัส Care labels เพื่อการดูแลรักษาเสื้อผ้าให้ใหม่เหมือนเพิ่งซื้ออยู่ตลอด

อัปเดตเมื่อ

อ่านสัญลักษณ์ซักรีด

สัญลักษณ์บนเสื้อผ้าจำเป็นด้วยหรือ จะมีสักกี่คนที่เปิดดู คนส่วนใหญ่เลือกซื้อเสื้อผ้าจากลุคภายนอก ใส่แล้วดูดี ตัดเย็บเนี๊ยบ ราคาจับต้องได้ ก็จัดไปเลยจะรออะไร แต่ถ้าคุณมีเสื้อผ้าตัวโปรดในครอบครอง ก็คงอยากใส่ไปนานๆ สัญลักษณ์เหล่านี้เองที่จะเป็นกูรูการดูแลรักษาเสื้อผ้าตัวโปรดของคุณ

กว่าจะเป็น Care Labels

ป้ายเล็กๆ บนเสื้อผ้าและสัญลักษณ์ต่างๆ บนนั้น ถึงจะดูเรียบง่ายแต่อันที่จริงแฝงไปด้วยประวัติของวงการสิ่งทอและแฟชั่นของโลกเลยทีเดียว 

ย้อนไปเมื่อ 70 ปีที่แล้ว สิ่งทอและเสื้อผ้าล้วนทำจากเส้นใยธรรมชาติ โปรแกรมการซักเครื่องที่ใช้สมัยนั้นจึงมีแค่การซักที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียสสำหรับซักน้ำร้อน และอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสสำหรับซักเสื้อผ้าแบบไม่ย้อม Colorfast dye  

สัก 10 ปีให้หลัง เทคโนโลยีสิ่งทอดีขึ้น เริ่มมีเส้นใยธรรมชาติแบบต่างๆ และเริ่มมีการทำใยสังเคราะห์ เมื่อสิ่งทอก้าวหน้า เทคโนโลยีเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าก็พัฒนาไปตามกัน การซักผ้าจึงมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ต้องมีการบอกผู้บริโภคถึงการดูแลรักษาเสื้อผ้าเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

ไหนจะการซื้อขายกับต่างชาติคนละภาษาอีก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสัญลักษณ์บนเสื้อผ้าที่เป็นภาพ ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างชาติและต่างภาษาเข้าใจตรงกัน ซึ่งช่วยลดการร้องเรียนจากผู้บริโภคและลดความเสียหายต่อเสื้อผ้า  

ถอดรหัสสัญลักษณ์

สัญลักษณ์บนเสื้อผ้าบ่งบอกถึงวิธีการดูแลรักษาเสื้อผ้าแต่ละตัว โดยผู้ผลิตได้คำนึงถึงเส้นใย การถักทอ การตกแต่ง และการผลิตเสื้อผ้า เพื่อบอกวิธีการซักที่เหมาะสมกับเสื้อผ้าตัวนั้นๆ ให้มีอายุการใช้งานยาวนานแม้ผ่านการซักซ้ำไปซ้ำมา ผู้ผลิตเขาตั้งใจขนาดนี้ เราควรใช้เวลาสักนิดดูสิ่งที่เขาจะบอก 

สัญลักษณ์เหล่านี้จัดเรียงตามลำดับขั้นตอนการซักผ้า โดยแบ่งขั้นตอนหลักๆ ได้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ การซัก การฟอกขาว การทำให้แห้ง การรีด และการซักแห้ง มาเจาะลึกการอ่านสัญลักษณ์บนเสื้อผ้าในแต่ละขั้นตอนกันดีกว่า

#1 ซักอย่างไร

การซักจะใช้สัญลักษณ์อื่นไปไม่ได้นอกจากรูปกะละมังใส่น้ำ สิ่งสำคัญของการซักเสื้อผ้าก็คืออุณหภูมิของน้ำและรูปแบบการซักเพราะจะรักษาไม่ให้เสื้อผ้ายืดหรือหด ปัจจัย 2 ข้อนี้เองที่จะเพิ่มเติมไปบนรูปกะละมังใส่น้ำ

  • กะละมังใส่น้ำมีกากบาททับ - ห้ามซักด้วยวิธีปกติ

  • กะละมังใส่น้ำมีมือจุ่ม - ซักเสื้อผ้าชิ้นนั้นด้วยมือเท่านั้น โดยเสื้อผ้าซักมืออาจมีสัญลักษณ์รูปผ้าบิดเป็นเกลียวเพิ่มเติมเพื่อบอกว่าบิดผ้าได้ แต่ถ้าเป็นรูปผ้าบิดเกลียวแล้วมีกากบาทก็ห้ามบิดเด็ดขาด

  • กะละมังใส่น้ำเปล่า - ซักเครื่องด้วยโปรแกรมการซักปกติได้ 

  • กะละมังใส่น้ำมีเลขข้างใน - เลขบอกถึงอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ในการซักผ้า

  • กะละมังใส่น้ำมีจุดข้างใน - ถ้าเสื้อผ้าของคุณมาจากสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา สัญลักษณ์ของอุณหภูมิน้ำจะใช้จุดแทนตัวเลข 

1 จุด คือ 30 องศาเซลเซียส 

2 จุด คือ 40 องศาเซลเซียส

3 จุด คือ 50 องศาเซลเซียส

4 จุด คือ 60 องศาเซลเซียส

5 จุด คือ 70 องศาเซลเซียส

6 จุด คือ 95 องศาเซลเซียส

  • กะละมังใส่น้ำมีขีดด้านล่าง - ขีดบอกถึงโปรแกรมการซัก ยิ่งขีดมากยิ่งต้องเลือกโปรแกรมถนอมผ้ามากขึ้น 

1 ขีด หมายถึง การซักด้วยโปรแกรมการซักสำหรับผ้ารีดสำเร็จ (Permanent Press) ซึ่งเป็นการซักแบบเร็วแต่รีดน้ำแบบช้า 

2 ขีด หมายถึง โปรแกรมซักผ้าบอบบาง

บางทีคุณก็อาจเห็นสัญลักษณ์เหล่านี้ผสมกันอยู่ เช่นมีทั้งเลขข้างในและขีดข้างล่าง ก็แสดงว่าต้องระวังทั้งอุณหภูมิของน้ำที่ใช้และความแรงของโปรแกรมซักผ้า เสื้อผ้าชิ้นนี้ต้องพิเศษมาก ผู้ผลิตถึงต้องให้ข้อมูลละเอียดขนาดนี้ แสดงว่าคุณมีของเลอค่าอยู่ในมือ ต้องซักให้ถูกวิธีนะจ๊ะ

#2 ใช้สารฟอกขาวได้หรือไม่

การใช้สารฟอกขาวในการซักผ้าก็เพื่อขจัดคราบ ฆ่าเชื้อโรค และทำให้ผ้าขาวดูขาวยิ่งขึ้น ส่วนผ้าสีก็ดูสดใสกว่าเดิม โดยสารฟอกขาวมีด้วยกัน 2 ชนิด 

  • ออกซิเจนบลีซ - มีสารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และออกซิเจน ขจัดคราบอินทรีย์และคราบทั่วๆ ไปได้ดี ทำให้เสื้อผ้าสีสดใสขึ้น 

  • ครอลีนบลีซ - มีสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ ที่รุนแรงกว่าแบบออกซิเจนบลีซ แต่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดี ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส เหมาะกับการขจัดคราบฝังแน่นและซักผ้าขาว 

สารฟอกขาวมีฤทธิ์ในการกัดกร่อน จึงอาจไม่เหมาะกับเสื้อผ้าทุกตัวเพราะอาจทำให้เส้นใยเสียหายหรือมีสีด่าง ป้ายการดูแลรักษาเสื้อผ้าจึงต้องมีสัญลักษณ์ที่บอกถึงการใช้สารฟอกขาว โดยสัญลักษณ์ของการใช้สารฟอกขาวจะเป็นรูปสามเหลี่ยม จำง่ายๆ เหมือนหัวลูกศรชี้ขึ้น เพราะสารฟอกขาวเพิ่มความขาวและความสว่าง 

  • สามเหลี่ยมมีกากบาททับ - ห้ามใช้สารฟอกขาว 

  • สามเหลี่ยมเปล่าๆ - ซักได้หมดไม่ว่าจะสารฟอกขาวแบบไหน

  • สามเหลี่ยมมีลายเส้น - ห้ามใช้คลอรีนบลีซ

  • สามเหลี่ยมมีอักษรซีแอล - ใช้คลอรีนบลีซได้ คุณจะเห็นบนป้ายเสื้อผ้าตัวเก่า เพราะปัจจุบันเลิกใช้สัญลักษณ์นี้ไปแล้ว 

#3 ทำอย่างไรให้แห้ง

การทำให้เสื้อผ้าแห้งก็เป็นขั้นตอนการดูแลรักษาเสื้อผ้าที่สำคัญ เพราะเสื้อผ้าจะซีด จะหด หรือจะย้วยก็ขึ้นอยู่กับวิธีทำให้ผ้าแห้งนี่เอง โดยจะใช้สัญลักษณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งแบ่งกว้างๆ ได้เป็นการตากให้แห้งหรือการใช้เครื่องอบผ้า 

การตากให้แห้ง

กรอบสี่เหลี่ยมที่มีขีดด้านในจะเป็นการบอกว่าเสื้อผ้าของคุณต้องปล่อยให้แห้งด้วยวิธีธรรมชาติ แต่ไม่ใช่แค่นั้นนะ มีรายละเอียดเพิ่มด้วยว่าต้องปล่อยทิ้งไว้อย่างไร

  • สีเหลี่ยมมีครึ่งวงกลมด้านบน หรือ มีขีดแนวตั้ง 1 ขีด - ตากผ้าด้วยการแขวน

  • สีเหลี่ยมมีขีดแนวตั้ง 2-3 ขีด - ตากผ้าตอนผ้าเปียก โดยจัดผ้าให้เรียบก่อน

  • สี่เหลี่ยมมีขีดแนวนอน 1 ขีด - วางตากบนพื้นราบ

  • สี่เหลี่ยมมีขีดแนวนอน 2 ขีด - วางตากบนพื้นราบตอนผ้ายังเปียก

  • สี่เหลี่ยมมีขีดเฉียงที่มุมซ้ายบน - ตากในที่ร่ม

การทำให้แห้งก็เช่นเดียวกับการซัก อาจมีการผสมผสานหลายสัญลักษณ์เข้าด้วยกัน คุณก็อ่านวิธีการตากตามสัญลักษณ์ทั้งหมดที่มีบนสี่เหลี่ยม เช่น สีเหลี่ยมมีขีดแนวนอน 2 ขีดและมีขีดเฉียงมุมซ้ายบน คุณก็ต้องตากแบบวางราบตอนยังเปียกในที่ร่ม 

การใช้เครื่องอบผ้า

หากคุณอยู่คอนโดที่มีพื้นที่จำกัดในการตากผ้า หรือคุณต้องใช้เสื้อผ้าแบบเร่งด่วน การใช้เครื่องอบผ้าก็เป็นทางออกที่ช่วยไม่ให้ผ้าอับชื้น แต่คุณต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบว่าเสื้อผ้าของคุณใช้เครื่องอบผ้าได้หรือไม่ เครื่องอบผ้าจะมีสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมที่มีวงกลมข้างใน

  • สี่เหลี่ยมที่มีวงกลมข้างในและกากบาททับ - ห้ามใช้เครื่องอบผ้า

  • สี่เหลี่ยมที่มีวงกลมข้างในสีดำ - ใช้เครื่องอบผ้าแบบเป่าลมโดยไม่ใช้ความร้อน เห็นได้บนเสื้อผ้าที่มาจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

  • สี่เหลี่ยมที่มีวงกลมข้างในและจุด - ใช้เครื่องอบผ้าได้ โดยจุดบอกถึงอุณหภูมิ ยิ่งจุดมากยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้น 

1 จุด คือ อุณหภูมิต่ำ ประมาณ 60 องศาเซลเซียส 

2 จุด คือ อุณหภูมิปกติ ประมาณ 80 องศาเซลเซียส

3 จุด คือ อุณหภูมิสูง มักจะพบในเสื้อผ้าที่มาจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 

#4 รีดอย่างไรไม่ให้พัง

เสื้อผ้าถ้ารีดไม่ดีอาจไหม้และขึ้นเงาได้ แต่คุณไม่ต้องกังวล Care Labels จะช่วยบอกว่าคุณต้องรีดเสื้อผ้าอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าสัญลักษณ์การรีดผ้าก็ต้องเป็นรูปเตารีด 

  • รูปเตารีดมีกากบาททับ - ห้ามรีด

  • รูปเตารีดมีจุด - การรีดแบบไม่ใช้ไอน้ำ โดยจำนวนจุดบอกถึงอุณหภูมิที่ใช้

1 จุด ให้รีดด้วยอุณหภูมิต่ำที่ 110 องศาเซลเซียส

2 จุด ให้รีดด้วยอุณหภูมิปานกลางที่ 150 องศาเซลเซียส

3 จุด ให้รีดด้วยอุณหภูมิสูงที่ 200 องศาเซลเซียส

  • รูปเตารีดมีลูกศรด้านล่างชี้ไปด้านหน้าเตารีด - รีดด้านในเสื้อผ้าและรีดในทิศทางเดียว 

  • รูปเตารีดมีขีดเฉียงด้านล่าง 2-3 ขีด มีกากบาททับที่ขีด - ห้ามใช้เตารีดไอน้ำ

  • รูปเตารีดมีขีดเฉียงด้านล่าง 2-3 ขีด - รีดด้วยเตารีดไอน้ำได้ 

  • รูปเตารีดวางตั้ง มีขีดด้านล่างเตารีด - รีดด้วยเตารีดไอน้ำแนวตั้ง

#5 ต้องซักแห้งหรือไม่

เสื้อผ้าบางตัวบอบบางเกินกว่าที่เราจะทำการดูแลรักษาเสื้อผ้าเองได้ สัญลักษณ์วงกลมจะบอกว่าคุณต้องใช้บริการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยถ้าเป็นสัญลักษณ์วงกลมที่มีตัวอักษรดับบลิวข้างในก็หมายถึงซักเปียกได้ แต่ถ้าเป็นวงกลมธรรมดาก็หมายถึงการซักแห้ง 

  • วงกลมมีกากบาททับ - ห้ามซักแห้ง

  • วงกลมทึบมีกากบาททับ - ห้ามซักเปียก

  • วงกลมเปล่าๆ - การซักแห้ง

  • วงกลมมีตัวอักษรดับบลิวข้างใน - ซักเปียกได้

  • วงกลมมีตัวอักษรเอ - ซักแห้งด้วยน้ำยาอะไรก็ได้

  • วงกลมมีตัวอักษรพี - ใช้น้ำยาซักแห้งได้ทุกชนิด ยกเว้นไตรคลอโรเอทีลีน 

  • วงกลมมีตัวอักษรเอฟ - ใช้น้ำยาซักแห้งประเภทไฮโดรคาร์บอน

  • ขีดด้านล่าง - ก็คล้ายกับการซักที่จำนวนขีดจะบอกว่าต้องมีความระมัดระวังขนาดไหน ยิ่งขีดมากยิ่งต้องระวังมาก

ดีเทลเพิ่มไปอีก

เพิ่มเติมจากการระบุน้ำยาซักแห้ง ยังมีสัญลักษณ์ที่บอกถึงวิธีการซักแห้งด้วย

  • วงกลมมีขีดด้านล่างขวา - ซักแห้งแบบความร้อนต่ำ

  • วงกลมมีขีดด้านล่างซ้าย - ซักแห้งโดยใช้โปรแกรมการซักแบบสั้น

  • วงกลมมีขีดด้านบนขวา - ซักแห้งแบบลดความชื้น

  • วงกลมมีขีดด้านบนซ้าย - ซักแห้งแบบไม่ใช้ไอน้ำ

ถอดโค้ดดาวินชี่ 

พิเศษสำหรับคุณ เราขอเรียบเรียงความหมายสัญลักษณ์บนเสื้อผ้ากันง่ายๆ ดังนี้นะจ๊ะ 

กะละมังมีน้ำถามถึงการซัก อัพความสว่างตามสามเหลี่ยม เตรียมรอแห้งที่สี่เหลี่ยม เนียนเรียบเทียบรูปเตารีด รีบหามือโปรโกตามวงกลม พบกากบาทที่ไหนให้หยุด นับจุดจัดระดับความร้อน รองล่างด้วยขีดควรระวัง  

Care Labels หายทำอย่างไรดี

ถ้าคุณมีคู่มือการดูแลรักษาเสื้อผ้าย่อมดีกว่า แต่ถ้าเสื้อผ้าไม่มีป้ายหรือป้ายหลุดหายไป เราขอเสนอวิธีดูแลเสื้อผ้าตามเนื้อผ้า

  • ผ้าคอตตอน - คอตตอนเป็นผ้าที่ยืดหดง่ายจึงควรซักแบบเบาแรง ซักด้วยเครื่องซักผ้าได้ ใช้น้ำเย็น และเลี่ยงการใช้เครื่องอบผ้า รีดด้วยอุณภูมิสูงได้ 

  • ผ้าลินิน - ซักด้วยมือหรือเครื่องซักผ้าโปรแกรมถนอมผ้า ใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส เลี่ยงการใช้สารฟอกขาว ตากให้แห้ง รีดด้วยอุณหภูมิสูงได้

  • ผ้าไหม - ซักมือด้วยสบู่อ่อนๆ ไม่ใช้สารฟอกขาวและไม่ใช้เครื่องอบผ้า รีดด้วยอุณหภูมิต่ำ

  • ผ้าขนสัตว์ - ง่ายต่อการหดจึงให้ใช้น้ำเย็นและไม่ใช้เครื่องอบผ้า ดีที่สุดคือซักด้วยมือแล้วผึ่งลมให้แห้ง รีดด้วยอุณหภูมิต่ำ

  • ผ้าใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ เรยอน สแปนเด็กซ์ ไนลอน อะคริลิค  ผ้าใยสังเคราะห์ง่ายต่อการดูแลรักษา กลับด้านในออกข้างนอกแล้วใส่เครื่องซักผ้าโปรแกรมปกติ หากใช้เครื่องอบผ้าให้ใช้อุณหภูมิต่ำ รีดด้วยอุณหภูมิปานกลาง 

พลังพิเศษบนเสื้อผ้า

นอกจากสัญลักษณ์บนเสื้อผ้าที่บอกวิธีการดูแลรักษาเสื้อผ้าแล้ว เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษก็จะมีสัญลักษณ์บ่งชี้ด้วย ทั้งสัญลักษณ์ออแกนิค เส้นใยรีไซเคิล กันน้ำ กันยูวี ระบายอากาศ แห้งไว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กันลม ปรับอุณภูมิ ควบคุมความร้อน หรือต้านเชื้อแบคทีเรีย ได้ยินแบบนี้แล้วทึ่งไปเลยว่าเทคโนโลยีสิ่งทอมาไกลมากจริงๆ 

เทคโนโลยีบนเสื้อผ้า

สัญลักษณ์บนเสื้อผ้าไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ และไม่ใช่แค่พัฒนาตามเทคโนโลยีของสิ่งทอเท่านั้น แต่พัฒนาตามกระแสสังคมอย่างการรักษาสิ่งแวดล้อม และตามเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศใหม่ๆ ในยุคบิ๊กดาต้าด้วย 

ในอนาคตจะมีการใช้สมาร์ทเลเบลบนเสื้อผ้าที่คุณสามารถใช้สมาร์ทโฟนสแกนเพื่อดูข้อมูลของเสื้อผ้าได้ ทั้งที่มา การดูแลรักษาเสื้อผ้า สภาพการใช้งาน ไปจนถึงการติดตามเมื่อสูญหาย เทคโนโลยีทำให้คุณมีข้อมูลเพิ่ม แต่ก็เสี่ยงที่คุณจะถูกแฮกเอาข้อมูลส่วนตัวไปเหมือนกัน 

ก่อนที่จะไปถึงยุคดิจิทัลแบบเต็มตัว ตอนนี้เราคงต้องเรียนรู้วิธีการอ่านสัญลักษณ์บนเสื้อผ้าเพื่อการดูแลรักษาเสื้อผ้าไปก่อน วิธีบ้านๆ ที่ไม่ธรรมดาแบบนี้ยังคงคุณค่าแถมช่วยให้เสื้อผ้าตัวโปรดอยู่กับคุณไปนานๆ

เผยแพร่ครั้งแรก